จากข้อเสนอของฝ่ายการเมืองให้ประเทศไทยเปิด “คาสิโน” หรือ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสที่สังคมไทยควรได้ถกเถียงเพื่อทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้ให้กระจ่าง

“คาสิโน” คือ บ่อนการพนันขนาดใหญ่ ที่มีเกมการพนันหลากหลายรูปแบบไว้คอยบริการ เมื่อนึกถึง “คาสิโน” เราสามารถจินตนาการถึงมันได้สัก 3 รูปแบบ

    • 1. คาสิโนรีสอร์ท คือ คาสิโนขนาดใหญ่ มักตั้งอยู่ห่างไกลออกไปจากชุมชน

 

    • 2. คาสิโนในเมือง มีขนาดที่เล็กกว่าคาสิโนรีสอร์ท และตั้งอยู่ในเมืองตามย่านชุมชน

 

    3. คาสิโนเกมส์ช เป็นร้านสำหรับตั้งตู้เกมส์ชพนันต่าง ชๆ เช่น ตู้สลอตแมชชีน และอื่นๆ สามารถตั้งกระจัดกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในชุมชนเมืองและชานเมือง

คาสิโนแต่ละรูปแบบต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แบบที่หนึ่งส่งผลลบต่อชุมชนน้อยที่สุด เพราะคนทั่วไปเข้าถึงยาก ส่วนแบบที่สองและแบบที่สามควบคุมผลลบต่อชุมชนได้ยาก ยิ่งอยู่ใกล้ชุมชนยิ่งเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้าถึงง่าย ยิ่งสร้างปัญหา เพราะลูกค้าหรือนักพนันไม่พ้นเป็นคนในท้องถิ่น

เหตุผลในการเสนออยากเปิดคาสิโนมักไม่พ้น 2 ประการ คือ

หนึ่ง “มุ่งจะเปิดคาสิโนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสำคัญ และไม่คิดจะหวังรายได้จากนักพนันในประเทศ” ฉะนั้น คาสิโนที่เขาเสนอมักมีจินตนาการเป็นคาสิโนรูปแบบที่ 1 หรือ 2

สอง “หวย บ่อน (อาจรวมซ่องด้วย) เป็นเศรษฐกิจนอกระบบที่ดึงดูดเม็ดเงินจากคนในประเทศจำนวนมาก ฉะนั้น ควรจะต้องนำขึ้นมาบนดิน เพื่อให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และควบคุมได้

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างก็คือ “คาสิโนคุ้มค่าการลงทุนจริงหรือ” โปรดลองพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

หนึ่ง หากท่านคิดว่าการมีคาสิโนแล้วจะทำให้บ่อนพนันผิดกฎหมายทั้งหลายหายไป เรื่องนี้คงไม่เป็นจริง เพราะการมีบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายจะไม่ทำให้บ่อนพนันผิดกฎหมายหมดไป เทียบเคียงได้กับกรณีของหวยใต้ดินที่แม้รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลมากขึ้นเท่าใด แต่หวยใต้ดินก็ไม่ได้น้อยลง หรือออกสลากชุดเองแล้วจะทำให้สลากชุดหมดไป

ตรรกะที่ว่าเมื่อทำให้สิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แล้วสิ่งที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นจะหมดไป เทียบได้กับ “การเอาโจรมาจับโจร” เป็นตรรกะที่ป่วย เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นเพิ่มโจรให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ที่วาดฝันว่าจะได้เงินเข้าระบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น น่าจะห่างไกลความเป็นจริง และจะกลับกลายเป็นการยิ่งเพิ่มแหล่งเล่นการพนันให้มีมากขึ้นทั้งบนดินและใต้ดินด้วย

สอง การลงทุนในธุรกิจคาสิโนต้องใช้เงินจำนวนมาก และรัฐบาลของทุกประเทศมักจะไม่ลงทุนเอง แต่จะให้ต่างชาติมาลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าเงินกำไรที่ได้จะเป็นของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลเจ้าของประเทศจะได้แค่ค่าตอบแทนในรูปของภาษีเท่านั้น และหากเป้าหมายคือความต้องการเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติให้มาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น รัฐบาลคิดหากิจการอื่นที่สร้างสรรค์ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าคาสิโนมาลงทุนไม่ดีกว่าหรือ

เพราะหากคิดจะลงทุนด้วยคาสิโนจริงต้องมีการวิเคราะห์ผลประโยชน์กับต้นทุนอย่างจริงจัง คิดง่ายๆ คงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผลกระทบทางสังคม (social impact assessment: SIA) จึงจะสามารถตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่าของการมีคาสิโนได้

ตัวอย่างการคำนวณผลกระทบทางสังคมของสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นต้นแบบของประเทศที่หารายได้จากคาสิโน พบว่าในปี 2004 หลังจากหักกลบลบหนี้กันระหว่างรายได้เข้าประเทศกับต้นทุนผลกระทบทางสังคมแล้ว ทั้งสองเกือบจะเท่ากัน คือประมาณ 47,000 ล้านดอลลาร์ ต่างกันที่ตัวเลขสามตัวหลังที่หลักร้อยล้านเท่านั้น เพราะต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากคนอเมริกัน 1 คนที่ติดพนัน = 10,330 ดอลลาร์ หรือประมาณ 310,000 บาท/คน ขณะที่ต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากคนอเมริกัน 1 คน ที่เล่นพนันจนเกิดปัญหา = 2,945 ดอลลาร์ หรือประมาณ 88,000 บาท/คน (หากคำนวณที่ 1 ดอลลาร์ = 30 บาท)

ซึ่งรัฐบาลจะต้องคำนึงไว้ล่วงหน้าก่อนด้วยว่า “ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบจ่ายต้นทุนผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการมีคาสิโน” ธุรกิจคาสิโนหรือประเทศไทย

สาม บ่อนคาสิโนเปรียบได้กับเชื้อโรคอย่างเชื้อโควิด-19 ที่สามารถสร้างความเจ็บป่วยทางสังคมให้กับผู้คนในประเทศไทยอย่างแพร่กระจาย ฉะนั้น หากตราบใดที่ยังไม่มีระบบคุ้มกันโรคที่ดีพอ ก็ยังไม่ควรจะปล่อยให้เชื้อนี้เข้ามาในประเทศ

สิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศที่อยากมีคาสิโน แต่ไม่ลงทุนสร้างคาสิโนก่อน สิ่งที่เขาทำก่อนคือ มาตรการลดผลกระทบทางสังคม โดยตั้งหน่วยงานที่ชื่อ National Council on Problem Gambling (NCPG) เพราะรู้ว่าเมื่อมีคาสิโนแล้ว ผลกระทบย่อมเกิดตามมาแน่ NCPG จึงมีหน้าที่ฉีดวัคซีนความรู้ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนสิงคโปร์ โดยการพัฒนาการเรียนรู้ การรณรงค์ต่างๆ เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่แข็งแรงต่อการพนัน

รวมถึงกำหนดมาตรการทางสังคมเพื่อลดการเล่นพนันที่เป็นปัญหาที่เรียกว่า มาตรการยกเว้น หรือ exclusion ที่บุคคลที่เล่นพนันจนเป็นปัญหาสามารถถูกยกเว้นโดยตัวเอง (self exclusion) หรือคาสิโน (corporate exclusion) หรือครอบครัว (family exclusion) ได้ โดยยื่นเรื่องขอยกเว้นบุคคลนี้ไม่ให้เข้าใช้บริการคาสิโนต่อ NCPG

แค่นี้ยังไม่พอ NCPG ยังต้องมีบริการปลายทางไว้รองรับผู้ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นมีปัญหาจากการพนัน โดยมีบริการให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยาภาคบังคับ บริการเหล่านี้ของ NCPG ล้วนมีต้นทุนทั้งสิ้น ถามว่าใครคือผู้ควรต้องจ่ายต้นทุนนี้ ธุรกิจคาสิโนหรือสังคม

อังกฤษเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีบทเรียนต่อเรื่องทำนองนี้ดี จากกรณีของล็อตเตอรี่รัฐบาล ที่คนอังกฤษเคยนิยมเล่นกันอย่างหัวปักหัวปำ จนรัฐบาลยุคหนึ่งต้องประกาศยกเลิกไปนานหลายสิบปี และเพิ่งถูกรื้อฟื้นกลับมาไม่กี่ปีหลังมานี้ แต่การกลับมาครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษตั้งการ์ดสูง โดยจัดสรรรายได้จากล็อตเตอรี่รัฐบาลถึง 28% มาตั้งเป็นกองทุนที่ชื่อว่า Big Lottery Fund เพื่อคืนเงินกลับมาสร้างความเข้มแข็งทางสังคม

สี่ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่มักจะเกิดสวนทางกับคำกล่าวอ้างที่สวยหรูตอนต้น ที่จะห้ามไม่ให้นักพนันเข้าไปเล่นพนันในคาสิโนที่เปิดในประเทศเขา คือ สุดท้ายแล้วนักพนันที่เข้าเล่นในคาสิโนจะเป็นนักพนันจากคนในประเทศนั้นเป็นส่วนใหญ่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่รัฐบาลมีกฎหมายห้ามไม่ให้คนลาวเข้าเล่นการพนันในคาสิโนเด็ดขาด แต่ความจริงคือนักพนันกว่า 60% ที่เข้าไปเล่นในคาสิโนชื่อดัง “คิงส์โรมัน” เป็นนักพนันชาวลาว เช่นเดียวกันกับที่เกิดในกัมพูชา ที่รัฐบาลกัมพูชาก็ไม่อนุญาตให้คนกัมพูชาเข้าคาสิโน แต่ก็พบว่าคนในท้องที่ท้องถิ่นที่คาสิโนตั้งอยู่ต่างกรูกันเข้าสู่คาสิโน